ดีไซน์ตึกออฟฟิศ
รูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารเป็นรูปแบบคลาสสิกที่ได้ลดทอนรายละเอียดลง โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กทำให้สามารถทำช่องเปิดอาคารได้กว้างขึ้น เน้นความโปร่งเบา ประหยัดวัสดุก่อสร้าง ทั้งเพื่อควบคุมปริมาณแสงภายในอาคาร เพื่อประโยชน์ใช้สอยภายใน หรือเพื่อรักษาสัดส่วนในการจัดวางองค์ประกอบรูปด้านของอาคารตามแบบแผนสถาปัตยกรรมคลาสสิก
อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อองค์ประกอบรูปลักษณ์ของอาคาร คือ สภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของสยาม ซึ่งนายตามาญโญผสมผสานความเข้าใจในสภาพภูมิอากาศเข้ากับเทคนิควิทยาการก่อสร้างสมัยใหม่ เช่น กันสาดคอนกรีตแผ่นบางเหนือช่องเปิดหน้าต่าง กันสาดคอนกรีตต่อเนื่องเป็นแถบยาว ช่องระบายอากาศและความชื้นที่ผนังและใต้ถุน เป็นต้น ทำให้อาคารหลังนี้เป็นภาพแทนของสมัยรัชกาลที่ 6 จึงเปลี่ยนผ่านจากวิถีชีวิตยุคเก่าไปสู่ชีวิตเมืองสมัยใหม่ที่แสดงความมั่นคง น่าเชื่อถือผ่านสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกที่มีที่ตั้งอันโดดเด่นในเมือง
รูปด้านหน้าอาคารที่แสดงอัตลักษณ์เฉพาะให้กับตัวอาคาร และสวยงามตามสถาปัตยกรรมแบบคลาสิก
ผังบริเวณ
เมื่อเริ่มก่อสร้างในปลายพ.ศ. 2463 ตัวอาคารสร้างบนบริเวณพื้นที่วังเดิมของเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งรื้อถอนไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว และมีการก่อสร้างอาคาร ศาลาแยกธาตุ ขึ้นก่อนหน้าใน พ.ศ. 2462 จึงสันนิษฐานว่าผู้ออกแบบอาคารได้กำหนดตำแหน่งทางเข้าไว้ที่มุมที่ดินด้านตะวันออกเฉียงเหนือที่แยกถนนท้ายวัดพระเชตุพน มาบรรจบถนนสนามไชยซึ่งเป็นถนนสายหลัก เพื่อให้อาคารโดดเด่นเป็นสง่าเมื่อมองจากด้านถนนสนามไชยมาใช้พื้นที่มุมแหลมทำเป็นถนนวงกลมให้วนรถไปที่เทียบรถยนต์ที่มุขกลางอาคาร อนึ่ง การวางอาคารตามทิศทางดังกล่าว ทำให้อาคารสามารถรับลมธรรมชาติจากแม่น้ำและลมประจำฤดูกาลได้ดีอีกด้วย
ลักษณะการวางผังโดยทำทางเข้าที่มุมของที่ดินเช่นนี้เป็นแนวทางที่มีมาแล้วตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 มักพบในโครงการที่ตั้งอยู่ที่มุมหนึ่งของสี่แยก การทำประตูทางเข้าที่มุมของที่ดิน คือ ที่มุมหนึ่งของสี่แยกก็สร้างความโดดเด่นให้แก่ทางเข้าหลัก ได้แก่ ตำหนักจิตรลดา วังปารุสกวัน วังบางขุนพรหม
ผังพื้น
อาคารหลังนี้มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนพื้นที่ใช้สอย และส่วนพื้นที่สัญจรและห้องน้ำ ด้วยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่ถ่ายแรงลงสู่ผนังอาคารทั้งหมด ผังพื้นแต่ละชั้นจึงประกอบด้วยห้องเพียง 2 ขนาด คือขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มุขกลางอาคารประกอบด้วยห้องขนาดเล็กสองห้องวางต่อเนื่องกัน มุขปลายอาคารเป็นห้องขนาดเล็กห้องเดียว ส่วนปีกอาคาร 2 ข้างนั้นแต่ละข้างมีห้องขนาดใหญ่หนึ่งห้อง การวางผังแบบนี้เป็นวิธีคิดแบบระบบประสานพิกัดที่ทำให้เกิดผังพื้นที่เป็นระเบียบ โดยที่แต่ละห้องมีสัดส่วนกว้างยาวที่เหมาะสม ไม่มีเสาเกะกะกลางห้อง ประกอบกับโครงสร้างช่วงกว้างที่สามารถแบ่งพื้นที่ในแต่ละห้องได้อย่างมีอิสระ
ระบบประสานพิกัดดังกล่าวมีผลต่อเนื่องไปถึงการวางช่องเปิดประตูหน้าต่างด้วย ช่องเปิดประตูหน้าต่างเหล่านี้วางตรงกันทั้งอาคาร ทำให้สามารถระบายลมได้เต็มที่ และเกิดเอกภาพในรูปลักษณ์อาคารทั้งภายในและภายนอก
อาคารมีผังแบบสมมาตร มีมุข 3 มุข โดยที่มุขกลางเป็นทั้งที่เทียบรถยนต์ โถงทางเข้า และโถงบันได พื้นที่ส่วนนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นศูนย์รวมเส้นทางสัญจรหลัก บันไดหลักของอาคารหลังนี้จึงออกแบบเป็นพิเศษ คือ มีบันไดทอดแยก 2 ข้าง วนไปรอบผนังโถงบันได แล้ววนกลับมาที่ระเบียงทางเดินชั้นถัดไป
รูปทรงอาคารแบบสมมาตร
การกำหนดรูปทรงอาคารเป็นมุข 3 มุข นอกจากทำให้ตัวอาคารมีรูปทรงที่ชัดเจน โดยเฉพาะทางด้านมุมมองด้านหน้าอาคารที่เห็นเป็นรูปทรงสมมาตร เน้นความสำคัญของมุขกลางให้โดดเด่นเหนือมุขข้าง ซึ่งสอดคล้องกับผังพื้นอาคารที่กำหนดให้ทางเข้าหลักอยู่ที่มุขกลางต่อเนื่องกับบันไดหลัก อีกทั้งมุขกลางยังมีกันสาดยาวเหนือที่เทียบรถยนต์ที่ชั้นล่าง และแผงผนังติดตั้งป้ายชื่ออาคารที่ยอดบนสุด ทำให้มุขกลางแตกต่างไปจากมุขข้างอย่างชัดเจน
อาคารหลังนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของวิธีการออกแบบอาคารสาธารณะแบบตะวันตกในสยาม ทั้งแบบมุข 3 มุข และแบบมุขเดียว แม้ว่าจะเป็นอาคารหลังเดียวกันมีขนาดกว้างยาวเท่ากัน แต่ด้านหน้ากับด้านหลังของอาคารมีลักษณะรูปทรงที่ดูแตกต่างกัน สะท้อนรูปแบบฐานานุศักดิ์ที่เป็นหลักการออกแบบสมัยเรอเนสซองส์ที่กำหนดให้อาคารประเภทวังในเมือง มี 3 ชั้น ชั้นล่าง เป็นชั้นของบ่าวไพร่ โรงม้า หรือให้เช่าเป็นร้านค้าพาณิชย์ ชั้น 2 เป็นที่อยู่ของเจ้าของวัง เรียกว่า ชั้นเกียรติยศ ส่วนชั้น 3 เป็นที่อยู่ของบ่าวไพร่ ห้องเก็บของ ฯลฯ นับเป็นชั้นใต้หลังคา รูปด้านอาคารจึงสะท้อนฐานานุศักดิ์ที่แตกต่างกันของผู้ใช้งานอาคารทั้งสามชั้น เช่น การทำผนังชั้นล่างให้ดูค่อนข้างทึบ ฉาบปูนเซาะร่องให้ดูขรุขระเหมือนฐานก่อด้วยหิน การยืดหน้าต่างชั้น 2 ให้สูงโปร่ง ตกแต่งประดับประดาอย่างประณีตเป็นพิเศษ เป็นต้น
รูปถ่ายด้านหน้าอาคารเห็นรูปทรงเป็นแบบมุข 3 มุข สมมาตรอย่างชัดเจน
ตัวอาคารใช้สอยพื้นที่ทั้ง 3 ชั้นเป็นที่ทำงาน หากอ้างอิงตามหนังสืออัตชีวประวัติของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์สมัยรัชกาลที่ 7 อธิบายว่าชั้นล่างเป็นที่ทำงานข้าราชการทั่วไป และหน่วยงานที่มีบุคคลภายนอกมาติดต่อมาก ชั้น 2 เป็นห้องทำงานของเสนาบดีและผู้บริหาร ส่วนชั้น 3 เป็นห้องทำงานผู้บริหาร โดยเฉพาะที่ปรึกษากระทรวงพาณิชย์ที่เป็นชาวต่างประเทศ ซึ่งการใช้งานพื้นที่ตามที่ขุนวิจิตรมาตราระบุนี้ตรงกับการออกแบบรูปด้านหน้าของอาคารที่ผู้ออกแบบมุ่งเน้นความแตกต่างระหว่างชั้นล่างของอาคารกับชั้นอื่นด้วยการคาดคิ้วบัวตามแนวคานที่ระหว่างชั้นล่างกับชั้น 2 และการทำเสาเก็จสูง 2 ชั้น ผสานชั้น 2 และชั้น 3 เข้าด้วยกัน เมื่อมองในระยะไกลจึงเห็นรูปทรงอาคารที่ดูสูงสง่า ตั้งอยู่เหนือฐานที่มั่นคงแข็งแรง
ภาพถ่ายหมู่ของกลุ่มข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ที่ด้านหน้าตึกปีกซ้าย ในภาพแถวยืนสุดท้าย คนที่สาม (นับจากขวามือ) คือ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนนาคพันธุ์) เป็นข้าราชการชุดแรกของกระทรวงพาณิชย์ที่เข้ารับราชการโดยการสอบคัดเลือก บรรจุที่กรมทะเบียนการค้า สำนักงานกลางมาตรชั่งตวงวัด
รูปด้านหลังและด้านข้าง
สำหรับด้านหลังอาคาร สถาปนิกออกแบบรูปด้านอาคารที่ต่างไปจากด้านหน้าอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ มีมุขกลางมุขเดียว ช่องเปิดหน้าต่างชั้นล่างและชั้น 2 เป็นหน้าต่างสี่เหลี่ยมเรียบ ๆ แบบและขนาดเดียวกันทั้งหมด ส่วนชั้น 3 ทำหน้าต่างเป็นชุด 3 ช่อง แบบเดียวกันหมดทั้งชั้น มีคาดคิ้วบัวตามแนวคานระหว่างชั้นล่างกับชั้น 2 และการทำบัวที่ชายคาของอาคารที่ต่อเนื่องมาจากรูปด้านด้านหน้า ไม่ปรากฏการตกแต่งด้วยเครื่องตกแต่งสถาปัตยกรรมคลาสสิก รูปด้านด้านหลังจึงประกอบด้วยระนาบตั้งของช่องหน้าต่างทั้งหมดที่มีขนาดเท่า ๆ กัน และระนาบนอนของกันสาดคอนกรีตสำเร็จรูปที่ยาวต่อเนื่องเป็นแถบยาวตามความยาวของอาคารทั้ง 3 ชั้น เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดด้านตะวันตกเฉียงใต้
ด้านข้างอาคารซึ่งมีความกว้าง 5 ช่วงเสาออกแบบให้แบ่งเป็นรูปด้านต่อเนื่องมาจากด้านหน้า 2 ช่วงเสา และต่อเนื่องมาจากด้านหลัง 3 ช่วงเสา แม้จะมีองค์ประกอบต่างกัน กล่าวคือ ด้านหน้ามีเสาเก็จสูง 2 ชั้น เส้นเซาะร่องทางนอนที่ชั้นล่าง และการตกแต่งกรอบช่องเปิดมากมาย ตรงข้ามกับด้านหลังซึ่งมีเพียงแผงกันสาดเป็นแถบทางนอน และช่องหน้าต่างเรียบ ๆ เท่านั้น แต่ด้วยการกำหนดระยะอย่างเป็นระเบียบ การคาดเส้นคิ้วบัวที่ต่อเนื่องกัน ทำให้เห็นว่าผู้ออกแบบเน้นการรับรู้รูปทรงอาคารเป็น 3 มิติ
ส่วนประณีตสถาปัตยกรรม
อาคารหลังนี้มีส่วนประณีตสถาปัตยกรรมที่นำภาษาสถาปัตยกรรมคลาสสิกมาประยุกต์ให้เหมาะสม
หัวเสาเสาเก็จสูง 2 ชั้นที่ด้านหน้าอาคารทั้งหมดเป็นหัวเสาแบบผสม ส่วนบนเป็นแบบไอโอนิกแบบที่พัฒนาขึ้นโดยวินเชนโซ สกามอซซิ สถาปนิกสมัยเรอเนสซองซ์ให้ส่วนที่เป็นขมวดม้วนเอียงออกมาจากระนาบปกติ ทำให้หัวเสามีปริมาตร 3 มิติมากขึ้นกว่าหัวเสาแบบไอโอนิกปกติ ส่วนล่างของหัวเสาทำเป็นลายเซาะร่องทางตั้งมีระบายผ้าห้อยทับด้านหน้า เพิ่มปริมาตรให้หัวเสาโดดเด่นเมื่อมองจากระยะไกลและเป็นรอยต่อระหว่างหัวเสาส่วนบนที่มีความเป็น 3 มิติ กับตัวเสาเก็จส่วนล่างที่ค่อนข้างเป็น 2 มิติ
ซุ้มโค้งที่ชั้น 2 ของอาคาร สถาปนิกออกแบบช่องเปิดที่ต้องการเน้นให้โดดเด่น ได้แก่ หน้าต่างเหนือทางเข้าหลัก และระเบียงทางเดิน 2 ข้าง ด้วยการทำหน้าต่างโค้งครึ่งวงกลมที่ยอดซุ้มประดับรูปปูนปั้นใบหน้าสตรีซ้อนอยู่บนรูปขมวดม้วนเป็นประดุจหินรูปลิ่มที่ยอดโครงโค้งศิลาในสถาปัตยกรรมโบราณ จากลายขมวดม้วนส่วนบนมีช่อมะกอกทำด้วยปูนหล่อโค้งลงมาตามกรอบหน้าต่างโค้งทั้ง 2 ด้าน เป็นส่วนประดับตกแต่ง
กรอบหน้าต่าง ที่ชั้น 2 ของอาคารในส่วนมุข คือ ส่วนบันไดหลักในมุขกลาง และห้องน้ำในมุขข้าง สถาปนิกออกแบบหน้าต่างรูปสี่เหลี่ยม โดยทำกรอบหน้าต่างเป็นซุ้มโค้งแบนมีเสาเก็จแบบไอโอนิกเรียบๆ รองรับ
สัญลักษณ์เทพเมอร์คิวรี ประตูทางเข้าหลักของอาคารเป็นเหล็กหล่อโปร่ง ตรงกลางมีตราทรงกลมทำด้วยโลหะหล่อเป็นรูปคทางูไขว้ ที่ยอดไม้เท้ามีหมวกประดับด้วยปีก มีงูพัน 2 ตัว ทั้งหมวกและคทาเป็นสัญลักษณ์ของเมอร์คิวรี เทพเจ้าแห่งการค้า กำไรและการสื่อสาร ตามกรีกปกรณัม
คันทวยลายขมวดม้วนตัวเอส สถาปนิกได้ออกแบบคันทวยซีเมนต์หล่อรองรับหลังคากันสาดคอนกรีตสำเร็จรูปในส่วนที่เทียบรถที่มุขหน้า และกันสาดด้านหลังเฉพาะชั้นที่ 1 และ 2 ซึ่งคันทวยใช้เป็นทั้งโครงสร้างและเครื่องตกแต่งอาคารไปพร้อมกัน
การตกแต่งภายใน
การตกแต่งภายในอาคารสะท้อนถึงวิธีคิดที่เป็นระบบของผู้ออกแบบ การแบ่งพื้นที่ทำงานให้มีสัดส่วนที่ดี ได้รับแสงธรรมชาติ และระบายอากาศดี ไม่เน้นลวดลายประดับตกแต่งภายในห้อง พื้นห้องทั้งหมดเป็นพื้นไม้เข้าลิ้น ผนังอาคารฉาบปูนเรียบทาสี บานประตูหน้าต่างไม้สัก ตอนบนทำเกล็ดไม้ระบายอากาศ ฝ้าเพดานมีทั้งฝ้าเพดานคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปวางบนคานคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือฝ้าเพดานไม้ ซึ่งมีทั้งชนิดโชว์กระทงฝ้าแบบช่องลูกฟัก และชนิดฝ้าเพดานไม้เข้าลิ้นเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งอาคาร
สำหรับพื้นที่ด้านนอกที่ใช้ในการสัญจร เช่น โถงทางเข้า โถงบันได และระเบียงทางเดินเป็นส่วนที่มีการออกแบบลวดลายตกแต่งมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะมุขกลางภายในเป็นโถงบันไดหลัก ทำเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมสูง 3 ชั้น ผนัง 3 ด้านมีช่องหน้าต่างนำแสงสว่างเข้ามาภายใน มีบันไดทอดจากชั้นล่างขึ้นไปถึงชั้น 3 แบบ ซึ่งโครงสร้างแม่บันไดเหล็กไว้กับผนัง บันไดจึงเสมือนกับว่าลอยอยู่ได้โดยมิต้องมีเสารับผนังด้านที่ 4 คือ ด้านที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ทำงาน เป็นส่วนที่มีการตกแต่งภายในมากที่สุดในอาคาร โดยออกแบบเป็น 3 ช่วงเสา แต่ละช่วงเสามีเสาคู่รองรับโครงสร้างพื้น ช่วงเสากลางเป็นทางเข้าไปสู่พื้นที่ทำงานส่วนช่วงเสาที่ขนาบอยู่ 2 ข้างทำราวลูกมะหวดกั้น สถาปนิกกำหนดแบบแผนของเสาคู่แต่ละชั้นให้แตกต่างกัน กล่าวคือ ชั้นล่างเป็นเสากลมหัวเสาแบบทัสกันตกแต่งด้วยลายไข่ (egg-and-dart) รองรับแนวคาน ชั้น 2 ทำเสากลมแบบไอโอนิกของสกามอซซี่ รองรับท่อนคานสั้นๆ ที่รับวงโค้ง 3 ช่วงอีกทีหนึ่ง ส่วนที่ชั้น 3 ทำเสาคู่แบบเสาสี่เหลี่ยม ฐานสอบยอดผาย คล้ายเสาโอบิลิสก์กลับหัวซึ่งเป็นรูปแบบเสาแบบหนึ่งในสถาปัตยกรรมบาโรก
ในส่วนพื้นที่ทางเดินมีลักษณะเรียบ แทบไม่มีการตกแต่งแต่อย่างใด มีลักษณะเด่นที่พื้นกระเบื้องหินขัดปูยาวตลอดความยาวอาคาร เพราะพื้นส่วนนี้อยู่ชิดผนังภายนอกย่อมมีฝนสาด สถาปนิกจึงกำหนดให้ปูด้วยกระเบื้องหินขัด โดยปรับระดับให้เอียงลาดเล็กน้อยให้น้ำฝนที่อาจสาดเข้ามาไหลออกไปนอกอาคารได้เอง กระเบื้องพื้นสีเทาอ่อน ลายสีเขียว ส่วนที่ขอบปูด้วยกระเบื้องชนิดเดียวกันแต่สลับสี คือ พื้นสีเขียว ลายสีเทาอ่อน เกล็ดหินกับปูนเป็นสีเดียวกัน จึงมีความแข็งแรงทนทานมาจนทุกวันนี้