จากออฟฟิศสู่มิวเซียม

ในการบูรณะตึกกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็น “โบราณสถาน” จึงมีการรื้อพื้นวัสดุและการตกแต่งในสมัยแรกสร้างอาคารกลับมาให้ใกล้เคียงกับสมัยแรกสร้างมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เดิมตัวอาคารเป็นสำนักงานที่มีการวางผังห้องใช้งานทางเดินและบันไดในแต่ละชั้นสอดคล้องกับการใช้งานเมื่อแรกสร้าง ทำให้ขนาดห้อง ความสูงเพดาน และความแข็งแรงในแต่ละชั้นแตกต่างกันไป เมื่อนำอาคารประวัติศาสตร์มาปรับใช้ประโยชน์ใหม่ภายในอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์จึงต้องตระหนักถึงข้อจำกัดทางสถาปัตยกรรมและโครงสร้างของอาคารด้วย




เส้นทางการเดินชมพิพิธภัณฑ์


อาคารหลังนี้มีบันไดหลักอยู่ที่มุขกลางของอาคารที่รองรับน้ำหนักได้น้อย เนื่องจากเป็นโครงสร้างเหล็กผสมไม้ที่พาดช่วงกว้าง ในขณะที่ปีกด้านซ้ายและขวามีบันไดขนาดเล็กเป็นบันไดบริการที่แข็งแรงมากกว่า ด้วยเหตุนี้การจัดเส้นทางการเดินชมพิพิธภัณฑ์ จึงให้ผู้ชมขึ้นที่บันไดขนาดเล็กทางปีกซ้ายไปยังชั้น 3 เป็นอันดับแรก และใช้บันไดขนาดเล็กทางปีกขวาเป็นทางลงสู่ชั้น 2 และชั้น 1 ด้วยผู้ชมขาลงจะมีความหนาแน่นน้อย รวมถึงออกแบบเส้นทางเดินชมภายในห้องนิทรรศการที่เน้นการเชื่อมต่อระหว่างห้อง เดินทะลุจากห้องสู่ห้องโดยไม่ต้องออกมาใช้ระเบียงทางเดินที่มีข้อจำกัดในการติดตั้งระบบปรับอากาศ



รูปภาพ3.jpg


แบบแปลนแสดงการออกแบบเส้นทางให้ผู้ชมใช้บันไดที่มุขปีกซ้ายเริ่มต้นเดินชมนิทรรศการ

จำกัดน้ำหนักวัตถุและสิ่งจัดแสดง


โครงสร้างพื้นของอาคารทั้งหมดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและพื้นไม้จึงไม่สามารถรับน้ำหนักได้อย่างอาคารสาธารณะซึ่งเป็นที่ชุมนุมคนจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้การคัดเลือกวัตถุและสิ่งจัดแสดงจึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงวัตถุสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก และต้องหลีกเลี่ยงการวางน้ำหนักตรงพื้นที่กลางห้องด้วย


นอกจากนี้ การออกแบบนิทรรศการภายในอาคารได้ประสานแนวคิดการจัดแสดงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และสร้างให้ผู้ชมเกิดการรับรู้ถึงที่ว่างเดิมภายในอาคารไปพร้อมกับการเดินชมนิทรรศการภายใน จึงลดทอนการกั้นผนังย่อย การต่อเติมฝ้าเพดาน และการก่อสร้างและจัดวางครุภัณฑ์ที่บดบังองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเดิม อาทิ ป้ายปูนปั้นสัญลักษณ์และปีที่เปิดใช้อาคารภายในห้องโถงชั้น 2 ตำแหน่งที่เก็บรักษาสีทาผนังดั้งเดิมไว้เป็นหลักฐาน เป็นต้น รวมทั้งการยอมให้มีแสงธรรมชาติผ่านเข้าในห้องจัดแสดงจากประตู หน้าต่างภายนอกเพื่อให้เกิดการรับรู้ถึงมิติที่ว่างภายในอาคาร

ต่อเติมสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการใช้งานพิพิธภัณฑ์


การใช้งานอาคารกระทรวงพาณิชย์เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องมีการดัดแปลงและต่อเติมงานระบบวิศวกรรม ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย

การติดตั้งลิฟต์โดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการและผู้สูงอายุให้สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้โดยสะดวก จึงมีการดัดแปลงโครงสร้างอาคาร เพื่อติดตั้งลิฟต์โดยสารแบบไม่มีห้องเครื่องไว้ภายในอาคาร ทั้ง 3 ชั้น ทั้งนี้มีการออกแบบโครงสร้างเหล็กให้ถ่ายน้ำหนักลงบนฐานรากเดิม และใช้วัสดุเป็นแก้วเพื่อไม่ให้บดบังงานสถาปัตยกรรม






lift.jpg

air conditioner.jpg


การติดตั้งระบบปรับอากาศ ระบบปรับอากาศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ แต่อาคารเมื่อ 100 ปีที่แล้วมิได้ถูกออกแบบไว้ให้รองรับ  ในการออกแบบจึงได้เลือกระบบปรับอากาศชนิดระบายความร้อนด้วยน้ำ ระหว่างผนังก่ออิฐภายในอาคารและในระหว่างตงไม้พื้นเป็นบางส่วน เพื่อหลีกเลี่ยงการจัดทำช่องท่อขึ้นใหม่ เนื่องจากกระทบกับรูปแบบฝ้าเพดานเดิม ทั้งนี้ เครื่องจ่ายลมเย็นเป็นแบบตั้งพื้นและจัดทำตู้ครอบภายนอกทั้งหมด เพื่อให้ซ่อมบำรุงง่ายและไม่เกะกะสายตา สำหรับเครื่องระบายลมร้อน ตั้งอยู่ห่างจากอาคารบริเวณริมรั้วเพื่อให้ไม่กีดขวางมุมมองไปยังตัวอาคารจากภายนอก

การติดตั้งสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ภายในห้องน้ำ ตำแหน่งของห้องน้ำภายในอาคารอยู่ที่บริเวณมุขทั้งสองข้าง และพบว่าถูกดัดแปลงต่อเติมมาหลายครั้ง ในการออกแบบเพื่อปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์จึงยังคงใช้ตำแหน่งดั้งเดิมแต่แบ่งเป็นห้องน้ำชาย – หญิง แยกเป็น 2 ฟาก และใช้เครื่องสุขภัณฑ์ อุปกรณ์และแผงกั้นห้องแบบสมัยใหม่


ลิขสิทธิ์ของมิวเซียมสยาม


electric system.jpg



การติดตั้งระบบไฟฟ้า เดิมอาคารสมัยแรกสร้างมีเพียงระบบไฟฟ้าแสงสว่างเท่านั้น ในการปรับปรุงเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์จึงจำเป็นต้องปรับปรุงและเพิ่มเติมงานระบบวิศวกรรมให้ครบถ้วนตามมาตรฐาน แต่ผนังอาคารทั้งหมดเป็นผนังก่ออิฐรับน้ำหนักที่มีความหนาน้อยและรูปแบบฝ้าเพดานภายในมีทั้งแบบโชว์โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กและโครงสร้างไม้ ไม่มีช่องว่างเหนือฝ้า ทำให้การเดินท่อร้อยสายภายในอาคารต้องออกแบบให้เดินสายไฟในรางไม้รูปตัวยูที่ตำแหน่งคานภายในอาคาร ขณะที่ตำแหน่งของสวิตซ์เต้ารับต่างๆ และแป้นอุปกรณ์ต้องมีกล่องไม้รองรับทุกจุดการออกแบบวงจรระบบต่างๆ เน้นให้ควบคุมที่ตู้คอนโทรลเป็นหลักเพื่อลดตำแหน่งของงานอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น

การติดตั้งตู้ดับเพลิงตามมาตรฐานอาคารสาธารณะ แต่เดิมอาคารกระทรวงพาณิชย์ไม่มีระบบดับเพลิงแต่อย่างใด จึงได้เพิ่มตู้ดับเพลิงภายในอาคาร โดยติดตั้งบริเวณชานพักบันไดบริการทั้งสองด้าน โดยกำหนดระยะสายฉีดให้ได้ตามมาตรฐานการใช้งาน แต่เดินทอซ่อนภายในผนังให้เรียบร้อย



ลิขสิทธิ์ของมิวเซียมสยาม

การใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่ประวัติศาสตร์


พื้นที่กระทรวงพาณิชย์เดิมเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เนื่องด้วยในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของวังเจ้านายจากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดี ครั้งถึงสมัยใช้งานเป็นกระทรวงพาณิชย์ได้มีการก่อสร้างอาคารและปรับปรุงพื้นที่เพื่อใช้งานในทางราชการจนหนาแน่น แต่ขาดการวางแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่จนก่อให้เกิดทัศนอุจาดและทำลายคุณค่าของพื้นที่โบราณสถาน


เมื่อเริ่มดำเนินโครงการอนุรักษ์และปรับปรุงพื้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์จึงมีแนวคิดพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้ส่งเสริมคุณค่าของอาคารโบราณสถานและเพื่อสอดคล้องกับการใช้งานของสำนักงานและอาคารพิพิธภัณฑ์ โดยกำหนดให้รื้อถอนอาคารและสิ่งก่อสร้างสมัยหลังที่ไม่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมออกทั้งหมด คงไว้เฉพาะอาคารกระทรวงพาณิชย์เดิมสำหรับเป็นอาคารจัดแสดง และอาคารสำนักประกันภัยเดิม (อาคาร 5 ชั้น) ปรับใช้งานเป็นสำนักงานและคลังพิพิธภัณฑ์ ภายหลังรื้อถอนอาคารและสิ่งก่อสร้างออกจากพื้นที่หมดแล้ว จึงดำเนินขุดสำรวจทางโบราณคดีเต็มพื้นที่ด้านหน้าอาคารกระทรวงและบางส่วนของพื้นที่ด้านหลัง



ลิขสิทธิ์ของมิวเซียมสยาม


จากนั้นกำหนดให้มีการรื้อพื้นสนามหญ้า ถนนรูปวงกลม ทางเดินเท้า และตำแหน่งประตูทางเข้าเดิมขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ต่อมาเมื่อมีโครงการสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสนามไชยขึ้น และได้กำหนดให้มีบันไดทางขึ้นลงสถานีอยู่บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าจึงได้จัดทำเป็นนิทรรศการแสดงข้อมูลและวัตถุไว้ภายในสถานีรถไฟฟ้า



ลิขสิทธิ์ของมิวเซียมสยาม

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ตึกเก่าร้อยปี

จากออฟฟิศสู่มิวเซียม

จากฟังก์ชั่นตึกสำนักงานมาสู่การเป็นมิวเซียม ปรับเปลี่ยนอย่างไร ที่ไม่เปลี่ยนคุณค่า
ดูเพิ่ม
ตึกเก่าร้อยปี

ความรู้ใหม่จาก "ตึกเก่า"

การบูรณะปรับปรุงตึกกระทรวงพาณิชย์ได้ค้นพบหลักฐานสำคัญที่เชื่อมโยงและสะท้อนแนวคิดในการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุของสถาปนิกชาวอิตาเลียนได้เป็นอย่างดี
ดูเพิ่ม
ตึกเก่าร้อยปี

ห้องทำงานของชาวกระทรวงฯ

80 ปีที่อาคารทำหน้าที่เป็นออฟฟิศให้กับข้าราชการกระทรวงพาณิชย์
ดูเพิ่ม