เรียนรู้ STEM+A กับมิวเซียมสยาม : เผยความลับผนัง 2 ชั้น
กิจกรรมที่ 6 เรียนรู้ STEM+A กับมิวเซียมสยาม : เผยความลับผนัง 2 ชั้น
คำอธิบาย
ตึก หรืออาคารเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีความคงทนแข็งแรงมาก ตึกมิวเซียมสยามสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 และมีอายุครบ 100 ปี ในปีพ.ศ.2565 เป็นอาคารรูปแบบตะวันตกที่สร้างโดยสถาปิกชาวอิตาเลียน ชื่อ นายมาริโอ ตามาญโญ ออกแบบอาคารไว้หลายแห่ง เช่น พระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน บ้านนรสิงห์ (ปัจจุบันคือทำเนียบรัฐบาล) ห้องสมุดเนลสันเฮย์ และ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งอาคารเหล่านี้ล้วนมีอายุนับร้อยปี เช่นเดียวกับตึกมิวเซียมสยาม
อาคารเหล่านี้มีรูปลักษณ์ต่างกัน สร้างด้วยเทคนิคและวัสดุต่างกัน ประโยชน์ใช้สอยก็แตกต่างกันด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่อาคารทั้งหมดนี้มีเหมือนๆ กันคือ ความแข็งแรงทนทาน ยืนหยัดให้ผู้คนใช้งานมานานถึง 100 ปีได้แบบสบายๆ อะไรคือความลับและเบื้องหลังความทนทานของอาคารเหล่านี้?
เรามาทดลองทำกิจกรรมสนุกๆ เพื่อไขความลับว่าสถาปนิกทำอย่างไรให้อาคารแต่ละหลัง แข็งแรงทนทาน ใช้งานได้ และยังมีความสวยงามอยู่ของอาคาร 100 ปี
กิจกรรมนี้เหมาะกับ เด็กตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
ระยะเวลาทำกิจกรรม 30 – 45 นาที
อุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรม
1) เทอร์โมมิเตอร์ จำนวน 1 ด้าม
2) ขวดแก้วเล็กๆ จำนวน 3 ใบ
3) ถ้วยกระดาษ จำนวน 3 ใบ
4) ขวดน้ำ 1 ขวด
5) ทราย
6) ขวดน้ำเย็น
คลี่คลายปริศนาอาคารอยู่เย็นเป็นสุข 1: เผยความลับผนัง 2 ชั้น
ทุกคนรู้กันดีว่า ตึกมิวเซียมสยามตั้งอยู่ในประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองร้อน มีแดดส่องอาคารตลอดทั้งวัน
ความร้อนจากแสงแดดจึงจะเข้าไปสะสมอยู่ภายในตึก แล้วสถาปนิกมีวิธีออกแบบตึกอย่างไร ให้ป้องกันความร้อนระอุได้นะ?
วิธีป้องกันความร้อนให้อาคาร คือความลับที่ตามาญโญซ่อนไว้ในผนัง
ก่อนหน้านี้ เรารู้กันแล้วว่าผนังบางส่วนของตึกมิวเซียมสยาม เป็นผนังรับน้ำหนัก (Load - Bearing Wall) มีลักษณะทึบตัน หนา และแข็งแรง เพื่อให้รับน้ำหนักสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง
แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า ผนังบางส่วนของตึกมิวเซียมสยาม ซ่อนความลับของการป้องกันความร้อนเอาไว้ด้วย
นั่นคือผนังก่ออิฐสองชั้น แล้วเว้นช่องว่างตรงกลางไว้ ซึ่งทำให้ผนังนี้มีคุณสมบัติช่วยป้องกันความร้อนได้!
ผนังอาคารแบบสองชั้น ป้องกันความร้อนได้อย่างไร
ตามาญโญจะอธิบายความสงสัยนี้ ผ่านการทดลองง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้
เตรียมถ้วยกระดาษกับขวดแก้วเล็กๆ อย่างละ 3 ใบ กับทราย น้ำ และน้ำเย็น รวมทั้งเทอร์โมมิเตอร์
ครบแล้วก็ทดลองกันเลย ตามคลิปวีดีโอนี้
โดยธรรมชาติแล้ว ความร้อนเดินทางได้
การเดินทางของความร้อน เกิดขึ้นเมื่อวัตถุหนึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าวัตถุหนึ่ง ทำให้เกิดการถ่ายเทพลังงานความร้อนจากวัตถุที่มีอุณหภูมิสูงไปยังวัตถุที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า และจะถ่ายเทให้กันแบบนี้จนกระทั่งอุณหภูมิเท่ากัน
การถ่ายเทพลังงานความร้อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เรียกว่า “การถ่ายโอนความร้อน” (Heat Transfer)
การถ่ายโอนความร้อนแบบหนึ่ง เรียกว่า “การนำความร้อน” (Heat Conduction) คือ พลังงานความร้อนถ่ายเทอยู่ในวัตถุหนึ่งๆหรือระหว่างวัตถุสองชิ้นที่สัมผัสกัน โดยที่ตัวกลางไม่เคลื่อนที่ เช่น ความร้อนจากน้ำร้อนในแก้ว เดินทางผ่านแก้ว ทำให้มือที่จับแก้วรู้สึกร้อน เป็นต้น
จากการทดลองในคลิปวีดีโอ อากาศภายนอกถ้วยมีอุณหภูมิสูงกว่าน้ำเย็นในขวด ความร้อนจากอากาศจึงถ่ายเทไปยังน้ำเย็นผ่านตัวกลางคือทราย น้ำ และอากาศ
“การนำความร้อน” เกิดจากโมเลกุลของสสารที่ได้รับความร้อน เกิดการสั่นและส่งต่อพลังงานกัน การนำความร้อนจึงเกิดขึ้นได้ในสสารทุกสถานะ ทั้งของแข็ง ของเหลว และก๊าซ
ความสามารถในการนำความร้อนของสสารแต่ละชนิดนั้นต่างกัน ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
ตัวนำความร้อน (Thermal Conductor) หมายถึงวัตถุที่ยอมให้ความร้อนผ่านเข้าไปในวัตถุนั้นได้ดี มักเป็นโลหะซึ่งมีอิเล็กตรอนที่เคลื่อนที่อย่างอิสระ ทำให้นำความร้อนได้เร็ว เช่น เงิน ทองแดง อะลูมิเนียม ฯลฯ
ฉนวนความร้อน (Thermal Insulator) หมายถึงวัตถุที่ไม่ยอมให้ความร้อนผ่านเข้าไป หรือนำความร้อนได้ไม่ดี เช่น ไม้ พลาสติก แก้ว น้ำ อากาศ ฯลฯ
เนื่องจากอากาศเป็นวัตถุที่นำความร้อนได้ไม่ดี จึงมีการนำอากาศมาใช้เป็นฉนวนความร้อนสำหรับอาคารบ้านเรือนในรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้ผนังสองชั้นที่มีอากาศคั่นอยู่ตรงกลางของตึกมิวเซียมสยาม หรือผนังกระจกสองชั้นในอาคารสมัยใหม่
สำหรับการทดลองตามคลิปวีดีโอนั้น เนื่องจากตามปกติแล้ว อากาศคือฉนวนกันความร้อนที่ดีที่สุด น้ำเย็นในถ้วยเปล่าจึงควรจะยังมีอุณหภูมิต่ำที่สุดอยู่
ผลการทดลองของเด็กๆ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น เด็กๆ คิดว่าน่าจะเกิดจากอะไร
คลี่คลายปริศนาอาคารอยู่เย็นเป็นสุข 2 : ฉนวนชวนคิด
แม้อากาศจะเป็นฉนวนความร้อนได้ดี แต่ในกรณีที่อากาศมีการเคลื่อนที่ ก็จะเกิด “การพาความร้อน” (Heat Convection)
การพาความร้อน คือการถ่ายเทความร้อนที่เกิดขึ้น โดยสิ่งที่เคลื่อนที่ได้ จึงมีสสารเพียงสองสถานะเท่านั้นที่มีคุณสมบัติพาความร้อน นั่นคือ ของเหลวและก๊าซ
ในอาคารยุคใหม่ จึงมีการใช้วัสดุบางอย่างเพื่อช่วยกั้นความร้อนที่ผนังหรือหลังคา เพื่อลดการพาความร้อน และช่วยเก็บความเย็นภายในอาคารได้ดียิ่งขึ้น
ลองใช้อุปกรณ์ชุดเดิม มาทดลองเพิ่มเติมกันไหม
อากาศเป็นฉนวนความร้อนที่ดี แต่อากาศก็มักเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ จึงมีการพัฒนาวัสดุหลายอย่างมาขวางกั้น ช่วยลดการพาความร้อน และเก็บความเย็นภายใน เช่น โฟม หรือใยแก้วที่ใช้บุใต้หลังคาบ้านเรือน
วัสดุเหล่านี้ ล้วนมีโพรงอากาศจำนวนมากแทรกอยู่ในเนื้อวัสดุ เพื่อลดการนำความร้อนไปนั่นเอง