เรียนรู้ STEM+A กับมิวเซียมสยาม : ปฏิบัติการจัดวางพื้นที่
กิจกรรมที่ 8 เรียนรู้ STEM+A กับมิวเซียมสยาม : ปฏิบัติการจัดวางพื้นที่
คำอธิบาย
ตึก หรืออาคารเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีความคงทนแข็งแรงมาก ตึกมิวเซียมสยามสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 และมีอายุครบ 100 ปี ในปีพ.ศ.2565 เป็นอาคารรูปแบบตะวันตกที่สร้างโดยสถาปิกชาวอิตาเลียน ชื่อ นายมาริโอ ตามาญโญ ออกแบบอาคารไว้หลายแห่ง เช่น พระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน บ้านนรสิงห์ (ปัจจุบันคือทำเนียบรัฐบาล) ห้องสมุดเนลสันเฮย์ และ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งอาคารเหล่านี้ล้วนมีอายุนับร้อยปี เช่นเดียวกับตึกมิวเซียมสยาม
อาคารเหล่านี้มีรูปลักษณ์ต่างกัน สร้างด้วยเทคนิคและวัสดุต่างกัน ประโยชน์ใช้สอยก็แตกต่างกันด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่อาคารทั้งหมดนี้มีเหมือนๆ กันคือ ความแข็งแรงทนทาน ยืนหยัดให้ผู้คนใช้งานมานานถึง 100 ปีได้แบบสบายๆ อะไรคือความลับและเบื้องหลังความทนทานของอาคารเหล่านี้?
เรามาทดลองทำกิจกรรมสนุกๆ เพื่อไขความลับว่าสถาปนิกทำอย่างไรให้อาคารแต่ละหลัง แข็งแรงทนทาน ใช้งานได้ และยังมีความสวยงามอยู่ของอาคาร 100 ปี
กิจกรรมนี้เหมาะกับ เด็กตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
ระยะเวลาทำกิจกรรม 30 – 45 นาที
อุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรม
1) กรรไกร
2) ดาวน์โหลดและพิมพ์ใบงาน
ปฏิบัติการจัดวางพื้นที่ I :จัดห้องให้คล่องตัว
ตึกมิวเซียมสยามประกอบด้วยห้องเล็ก-ใหญ่หลายขนาดสำหรับใช้งานต่างกันรวมทั้งพื้นที่ใช้สอยที่จำเป็น เช่น โถงบันไดและระเบียงทางเดิน
อาคารหลังอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องมีการจัดแบ่งพื้นที่ให้สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอย
การออกแบบพื้นที่ภายในอาคารเพื่อประโยชน์สอยต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยความรู้หลายด้าน ทั้งสถาปัตยกรรม วิศวกรรม มัณฑนศิลป์ โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความสวยงามถูกต้องตามหลักวิศวกรรม อยู่ในงบประมาณที่เหมาะสม และตรงความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งก็มีหลายคน หลายฝ่าย หลายความประสงค์
ปฏิบัติการจัดวางพื้นที่ II : ท้าประลอง จัดห้องในตึก
แม้การจัดวางพื้นที่ในอาคารจะฟังดูเป็นเรื่องยาก แต่เชื่อไหมว่าพวกเราทดลองดูได้ มาลองแบ่งพื้นที่ของตึกหลังหนึ่งแบบง่ายๆ กัน
ก่อนอื่นดาวน์โหลดและพรินต์ใบงาน แล้วทำตามวิธีการต่อไปนี้
ระหว่างที่ลองทำ อย่าเพิ่งรีบเลื่อนลงไปดูเฉลยนะ
เด็กๆ ที่ลองจัดวางพื้นที่คงเห็นแล้วว่ามีหลากหลายวิธีให้เราวางห้องลงไปในตึก เช่น การหมุน หรือการเลื่อนไปมา เพื่อหาวิธีจัดวางให้เหมาะสมที่สุด
วิธีเหล่านี้ คือส่วนหนึ่งของความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า การแปลงทางเรขาคณิต (Geometric Transformation)
การแปลงทางเรขาคณิต ทำได้หลายวิธี เช่น การเลื่อนขนาน (Translation) การสะท้อน (Reflection) และ การหมุน (Rotation)
ซึ่งวิธีเหล่านี้ทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกัน นำไปแก้ปัญหาเรื่องการใช้พื้นที่ได้เอื้อประโยชน์ต่อการออกแบบพื้นที่ในอาคารได้เป็นอย่างดี
ใครที่ได้ลองขยับห้องต่างๆ และอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ดูเฉลยกันได้เลย