รถเมล์ คมนาคมสาธารณะที่เชื่อมโยงผู้คนจากชานเมืองเข้าสู่พระนคร

ตลาดนัดสนามหลวงในปี พ.ศ.2523 และจำนวนรถเมล์ที่มีเส้นทางเดินรถผ่านสนามหลวง (ถ่ายภาพโดย เอนก นาวิกมูล)

ย้อนอดีตกลับไปสมัยรัชกาลที่ 4 ยุคที่สยามประเทศริเริ่มการพัฒนาแบบแผนบ้านเมืองใหม่ให้มีความศิวิไลซ์ ด้วยการตัดพื้นที่ทำถนนเพื่อใช้สำหรับเป็นเส้นทางสัญจรสาธารณะ นอกจากเส้นทางน้ำที่มีคูคลองต่างๆอยู่ทั่วไปแล้ว อาทิ ถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง และเฟื่องนคร และต่อเนื่องมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคที่มีการรื้อป้อมกำแพงเมืองเพื่อปรับเป็นพื้นผิวถนนเพิ่มขึ้นโดยรอบพระบรมมหาราชวัง ทำให้รูปแบบการเดินทางด้วยยานพาหนะต่างๆ ภายในเขตพระนคร มีความหลากหลายและพัฒนาเพิ่มขึ้นด้วยเทคโนโลยีตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น รถลาก รถม้า รถราง รถม้า รถไฟ รถยนต์ รถสามล้อ รถเมล์ เป็นต้น 


กระทั่งปี พ.ศ.2475 หลังการเปิดใช้สะพานพุทธในสมัยรัชกาลที่ 7 สะพานขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงให้การเดินทางจากฝั่งธนบุรีเข้าสู่พระนครได้รวดเร็ว มีการใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะสูงขึ้นทำให้มีการสร้างถนนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจรถเมล์ที่เป็นขนส่งมวลชนสู่เมืองพระนคร จนในปี พ.ศ. 2511 มีการยกเลิกการเดินรถรางถาวร แล้วมีผู้ใช้บริการรถเมล์เพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณ มีเครือข่ายเส้นทางเดินรถเมล์กระจายตัวครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในและชานเมืองมากขึ้น 


ลิขสิทธิ์เฟซบุ๊คเพจ ภาพเก่าในอดีต

รถรางสายกำแพงเมือง หรือสายบางคอแหลมบนถนนจักรเพชรผ่านหน้าวัดเลียบและปากคลองตลาด

มีรถเมล์สายไหนบ้างที่เดินทางมายังกระทรวงพาณิชย์ได้


จากข้อมูลเส้นทางรถเมล์ในกรุงเทพเมื่อปี พ.ศ.2515 จากหนังสือ "เที่ยวรอบเมืองไทย" โดย พ.เทียนทองดี มีบริษัทที่เป็นผู้ประกอบการเดินรถเมล์สายต่างๆ มากกว่า 10 บริษัท (ช่วงก่อนยกเลิกสัมปทาน) และมีสายรถเมล์ที่มีเส้นทางเดินรถมาถึงท่าเตียน สะพานพุทธและบริเวณใกล้เคียง มากกว่า 20 เส้นทาง ทำให้เห็นภาพบรรยากาศการเดินทางโดยรอบพื้นที่พระบรมมหาราชวัง ท่าเตียน ปากคลองตลาด และสะพานพุทธ จึงมีความคึกคักมากทั้งจากบรรดาประชาชนทั่วไปผู้ที่มีติดต่อกับหน่วยราชการ ข้าราชการ และเหล่าพนักงานกระทรวงต่างๆ ในละแวกนี้ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ศูนย์รวมของกระทรวงและหน่วยงานราชการต่างๆ หากสังเกตจากจำนวนสายรถเมล์ที่มีเส้นทางเดินรถผ่านเข้ามายังตัวเมืองพระนครมักผ่านสะพานพุทธ และสนามหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่จัดตลาดนัดกลางเมืองกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2490 ทำให้จุดนี้เป็นจุดสำคัญของการเชื่อมต่อการเดินทาง จนสมัยก่อนนี้มีคำพูดติดปากกันว่า “ถ้าหลงทางกลับบ้านไม่ถูก ให้ไปเริ่มต้นที่สนามหลวง” 

ต่อมาในปีพ.ศ.2525 กรุงเทพฯ ใช้พื้นที่สนามหลวงในการจัดงานฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์อายุครบ 200 ปี จึงมีการจัดการย้ายตลาดนัดสนามหลวงไปยังสวนจตุจักรเป็นการถาวร รวมถึงบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพได้เข้ามาบริหารจัดการระบบรถเมล์ และยกเลิกสัมปทานเส้นทางเดินรถเมล์บางส่วน ทำให้รถเมล์ที่วิ่งผ่านสนามหลวง ปากคลองตลาด และสะพานพุทธลดจำนวนลง ปัจจุบันมีรถเมล์ที่วิ่งเส้นทางผ่านกระทรวงพาณิชย์ทั้งสิ้น 15 สาย ได้แก่ สาย 3 | 6 | 7ก | 8 | 9 | 12 | 32 | 44 | 47 | 48 | 53 | 60 | 73 | 73ก | 82  

B03_รถเมล์สาย1_ถนนตก-ท่าเตียน_พ.ศ. 2496.jpg

รถเมล์สาย 1 ถนนตก-ท่าเตียน ปีพ.ศ. 2496

(แหล่งที่มาภาพ: คุณฉัตรดนัย รอดพันธุ์ จากเฟซบุ๊กกลุ่มภาพเก่าในอดีต)


B03_รถเมล์สาย 1_พ.ศ.2506.jpg


รถเมล์สาย 1 ลำดับแรกในหมวด 1  เรียกได้ว่าเป็นรถเมล์สายเก่าแก่ของกรุงเทพฯ (ช่วงการเลิกสัมปทาน) องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) เป็นผู้ประกอบการให้บริการเดินรถเมล์สายนี้ ให้บริการเดินรถจากถนนตก – ท่าเตียน สีประจำรถเป็นสีฟ้า รถเมล์สาย 1 ผ่านสถานที่สำคัญต่างๆ ได้แก่ ท่าเตียน สนามหลวง ท่าช้าง วังบูรพา รวมถึง ย่านตลาดเก่า ตลาดน้อย เยาวราช บางรัก พ.ศ.2506

B03_รถเมล์หลากหลายสีบนถนนสนามไชย.jpg


จากข้อมูลเส้นทางรถเมล์ในกรุงเทพเมื่อปี พ.ศ.2515 ในหนังสือ "เที่ยวรอบเมืองไทย" โดย พ.เทียนทองดี ระบุว่ามีสายรถเมล์ที่วิ่งผ่านสนามหลวงเยอะมาก อย่างรถเมล์สาย 23 ที่มีสีประจำรถเป็นสีแดง ให้บริการโดยสารประจำเส้นทางห้วยขวาง – เศรษฐการ รถจะวิ่งผ่านกรมการรักษาดินแดน กระทรวงเศรษฐการ (กระทรวงพาณิชย์) ผู้ประกอบการให้บริการเดินรถเมล์สายนี้ คือ บริษัท รถแดง จำกัด อัตราค่าโดยสาร 50 สตางค์ ตลอดสาย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ร้อยปีกับสังคมที่เปลี่ยนไป

พาหุรัด ศูนย์การค้าขาย รวมความทันสมัยจากต่างประเทศ

ธุรกิจการค้ายุคใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ดูเพิ่ม
ร้อยปีกับสังคมที่เปลี่ยนไป

โปรเจค “มหาวชิราวุธสแควร์”

โปรเจค “มหาวชิราวุธสแควร์”: แนวคิดเรื่องพื้นที่เมืองและอาคารสาธารณะในสมัยรัชกาลที่ 6
ดูเพิ่ม
ร้อยปีกับสังคมที่เปลี่ยนไป

รถเมล์ คมนาคมสาธารณะที่เชื่อมโยงผู้คนจากชานเมืองเข้าสู่พระนคร

บริบทสังคมที่เปลี่ยนไป รูปแบบการเดินทางด้วยยานพาหนะต่างๆ ภายในเขตพระนคร มีความหลากหลายและพัฒนาเพิ่มขึ้นด้วยเทคโนโลยีตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น รถลาก รถม้า รถราง รถม้า รถไฟ รถยนต์ รถสามล้อ รถเมล์ เป็นต้น
ดูเพิ่ม