โปรเจค “มหาวชิราวุธสแควร์”

ในรัชกาลที่ 6 ตัวเมืองกรุงเทพฯ ขยายตัวออกไปโดยรอบตามทิศทางที่กำหนดไว้แล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะการขยายตัวของย่านดุสิตทางทิศเหนือ ปทุมวัน คลองเตย และบางกะปิ ทางทิศตะวันออก ตลอดจนบางรักและบ้านทวาย ทางทิศใต้ พัฒนาการการคมนาคมทางบก ทั้งรถยนต์ รถราง และรถไฟ ส่งผลให้เกิดระบบโครงข่ายถนนใหม่ ๆ รอบนอกพระนคร การปรับปรุงถนนและสะพานภายในเขตเมืองเดิม รวมถึงพัฒนาการด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการสมัยใหม่ก็มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าเมือง ทั้งสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง (พ.ศ. 2456) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (พ.ศ. 2457) ประปาสถาน สามเสน (พ.ศ. 2457) สถานีกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2459) บริษัทไฟฟ้าสยาม วัดเลียบ (พ.ศ. 2459) และสะพานพระรามที่ 6 (เริ่มสร้าง พ.ศ. 2465) อาคารและสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ใช้วัสดุและโครงสร้างสมัยใหม่ มีนวัตกรรมการก่อสร้างที่ทันสมัย เช่น โครงสร้างหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กแบนเพื่อป้องกันอัคคีภัย โครงถัก (truss) เหล็กพาดช่วงกว้าง มีเครื่องประดับตกแต่งทางสถาปัตยกรรมเท่าที่จำเป็น

อาคารสาธารณะจำนวนมากในสมัยรัชกาลที่ 6 ออกแบบโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่เมืองกับตัวอาคาร โดยเน้นมุมมอง แนวแกนและความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามแบบแผนการออกแบบเมืองสมัยใหม่ ดังที่ได้เห็นมาแล้วในการปรับปรุงท้องสนามหลวง และการสร้างพระลานพระราชวังดุสิตในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งรัชกาลที่ 6 ยังคงสืบทอดแนวความคิดดังกล่าวอยู่ ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่ การออกแบบลานด้านหน้าสถานีกรุงเทพฯ บริเวณหัวถนนพระรามที่ 4 มีสะพานเจริญสวัสดิ์ 36 ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมอยู่ทางฝั่งตะวันตก


B01_พื้นที่เมืองบริเวณสะพานเจริญสวัสดิ์.jpg

ภาพถ่ายทางอากาศแสดงพื้นที่เมืองบริเวณสะพานเจริญสวัสดิ์ และการขยายตัวของเมืองกรุงเทพฯ

สำหรับพื้นที่เขตเมืองเก่า โครงการปรับปรุงพื้นที่เมืองที่สำคัญโครงการหนึ่ง คือ โครงการจัตุรัสมหาวชิราวุธ (Maha Vajiravudh Square) ที่นายหลุยส์ โรแบร์ต เดอลามาโฮติเอร์ (Louis Robert de la Mahotière) นายช่างใหญ่ กรมศุขาภิบาล ได้ออกแบบเสนอต่อเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) อธิบดี และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล ใน พ.ศ. 2454 เพื่อปรับปรุงพื้นที่เชิงสะพานเจริญรัช 31 อันเป็นจุดบรรจบของถนนมหาราช ถนนสนามไชย และถนนราชินี โดยนายเดอลามาโฮติเอร์กำหนดให้พื้นที่ระหว่างถนนมหาราชกับถนนสนามไชยเป็นที่ตั้งสถานีตำรวจนครบาลพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ มีอาคารสถานีวางยาวรับมุมมองจากสะพานเจริญรัช และเสนอให้สร้างอาคารใหม่สำหรับโรงเรียนราชินีขึ้นมาทางด้านซ้ายของสถานีตำรวจ และอาคารสโมสรทหารม้ารักษาพระองค์ทางด้านขวาให้เกิดความสมดุลกัน เกิดเป็นจัตุรัสขนาดใหญ่ที่มีอาคารสาธารณะทั้ง 3 เป็นฉากหลัง มีน้ำพุเป็นที่วนรถยนต์ด้านหน้าอาคารแต่ละหลัง แม้ว่าโครงการดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นจริงโดยสมบูรณ์ แต่การสร้างสถานีตำรวจนครบาลพระราชวังใน พ.ศ. 2458 โดยมีนายตามาญโญเป็นผู้ออกแบบก็สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของช่างฝรั่งในสมัยนั้นว่าพยายามให้สถาปัตยกรรมและพื้นที่เมืองทำงานร่วมกันอย่างไร



B01_พื้นที่เมืองด้านหน้าสถานีกรุงเทพฯ.jpg

อาคารสถานีกรุงเทพฯ ออกแบบโดยนายตามาญโญ





B01_แบบพิมพ์เขียวมหาวชิราวุธสแควร์.jpg

แบบพิมพ์เขียวมหาวชิราวุธสแควร์ เขียนแบบเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2454

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ร้อยปีกับสังคมที่เปลี่ยนไป

พาหุรัด ศูนย์การค้าขาย รวมความทันสมัยจากต่างประเทศ

ธุรกิจการค้ายุคใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ดูเพิ่ม
ร้อยปีกับสังคมที่เปลี่ยนไป

โปรเจค “มหาวชิราวุธสแควร์”

โปรเจค “มหาวชิราวุธสแควร์”: แนวคิดเรื่องพื้นที่เมืองและอาคารสาธารณะในสมัยรัชกาลที่ 6
ดูเพิ่ม
ร้อยปีกับสังคมที่เปลี่ยนไป

รถเมล์ คมนาคมสาธารณะที่เชื่อมโยงผู้คนจากชานเมืองเข้าสู่พระนคร

บริบทสังคมที่เปลี่ยนไป รูปแบบการเดินทางด้วยยานพาหนะต่างๆ ภายในเขตพระนคร มีความหลากหลายและพัฒนาเพิ่มขึ้นด้วยเทคโนโลยีตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น รถลาก รถม้า รถราง รถม้า รถไฟ รถยนต์ รถสามล้อ รถเมล์ เป็นต้น
ดูเพิ่ม