กำเนิดกระทรวงและตึกร้อยปี
กระทรวงพาณิชย์ถือกำเนิดขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการตั้งกรมสถิติพยากรณ์ขึ้นในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2457 พัฒนามาเป็นกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ใน พ.ศ. 2458 ตลอดจนการตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์ใน พ.ศ. 2463 ในช่วงแรกสถาปนา กรมสถิติพยากรณ์มีทำการที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ในพระบรมมหาราชวัง และมีขอบเขตภาระงานกว้างขวางมากขึ้น ตั้งแต่การเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายของสยาม รวบรวมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับตลาดโลกให้พ่อค้าชาวสยาม สำรวจพรรณไม้มีค่าเชิงพาณิชย์ การทดลองแยกธาตุ แร่ธาตุ หรือสสารที่อาจมีค่าเชิงพาณิชย์ และการส่งเสริมสหกรณ์ ช่วยยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ จนนำไปสู่การจัดตั้งขึ้นเป็นกระทรวงพาณิชย์ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2463 พร้อมกับการสร้างอาคารที่ทำการกระทรวงใหม่ที่ท้ายวัดพระเชตุพนฯ โดยมอบหมายให้นายมาริโอ ตามาญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียนเป็นคนออกแบบสร้างอาคารที่ทำการกระทรวงขึ้น
เมื่อแรกสถาปนามีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงพาณิชย์คนแรก และอยู่ในบังคับบัญชาของ "สภาเผยแผ่พาณิชย์" ซึ่งเป็นผู้ให้นโยบาย ประสานงานระหว่างกระทรวงและกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนด้านการพาณิชยกรรมของชาติ และใช้ตราสัญลักษณ์ประจำกระทรวงเป็นรูปเครื่องชั่งตวงวัด (ลูกตุ้ม ไม้วัด ทะนาน) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของการค้าขาย โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบให้ในปี พ.ศ. 2463 และใช้สีครามเป็นสีประจำกระทรวง ตราสัญลักษณ์รูปเครื่องชั่งตวงวัดนี้ยังคงปรากฏเป็นหลักฐานรูปปูนปั้นนูนต่ำติดอยู่ที่ผนังห้องโถงใหญ่ ชั้น 2 ของอาคารจนถึงปัจจุบัน
ประกาศราชกิจจาฯ สถาปนากระทรวง