โปรเจค "ร้อยปีตึกเรา"
อาคารมิวเซียมสยาม เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงพาณิชย์ อาคารหลังนี้ถูกสร้างโดยทีมสถาปนิกและวิศวกรชาวอิตาเลียนที่มากไปด้วยความสามารถในการออกแบบให้เป็นอาคารที่ตอบโจทย์ความเป็นอาคารราชการที่ภูมิฐานหากแต่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ในเขตร้อนชื้น ซึ่งอาคารหลังนี้ก่อสร้างได้รวดเร็วด้วยการใช้วัสดุและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในยุคนั้น ความเรียบงามและลงตัวในทางสถาปัตยกรรมและงานวิศวกรรม ทำให้แม้เวลาผ่านมาถึงหนึ่งร้อยปีแล้วองค์ความรู้ของอาคารหลังนี้ก็ยังคงมีความทันสมัยในการปรับประยุกต์ใช้ได้ในปัจจุบัน
การสร้างที่ทำการของกระทรวงพาณิชย์ถือเป็นก้าวแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาของประเทศและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยในหลายมิติ อาคารแห่งนี้เป็นที่ทำการของกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2537 ที่ครม. มีมติอนุมัติให้สร้างที่ทำการกระทรวงพาณิชย์แห่งใหม่ที่จังหวัดนนทบุรี และในปีพ.ศ. 2547 รัฐบาลประกาศให้จัดตั้ง “สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ” ขึ้น เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้านต่างๆ แก่สาธารณชน กล่าวได้ว่าอาคารแห่งนี้จบบทบาทการเป็นสำนักงานของกระทรวงพาณิชย์ลง และได้เริ่มชีวิตบทใหม่ในฐานะอาคารพิพิธภัณฑ์ที่รองรับความปรารถนาในการเรียนรู้ของสาธารณชนทั่วประเทศ
ชีวิตใหม่ของอาคารเริ่มต้นด้วยการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่โดยละเอียด จากนั้นตัวอาคารได้รับการบูรณะและอนุรักษ์ด้วยกลุ่มสถาปนิกอนุรักษ์ผู้เชี่ยวชาญ โดยมีแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์เพื่อปรับแปลงการใช้อาคารให้เป็นพิพิธภัณฑ์ และรื้อฟื้นให้เห็นความดั้งเดิมของอาคารที่ออกแบบโดยมาริโอ ตามาญโญ ในขณะเดียวกันก็รักษาร่องรอยการใช้งานเมื่อครั้งเป็นกระทรวงพาณิชย์ในบางจุด ตลอดจนเพิ่มเติมการปรับพื้นที่ใหม่บางจุดเพื่อให้รองรับหน้าที่ใหม่ในฐานะอาคารนิทรรศการ อาคารกระทรวงพาณิชย์ได้ถูกเปิดให้เป็น "พื้นที่สาธารณะ" ครั้งแรกในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2551 ในนาม "มิวเซียมสยาม" และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาคารแห่งนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของสาธารณชนทุกเพศวัย
ในปีพ.ศ. 2565 อาคารหลังนี้จะมีอายุครบรอบหนึ่งร้อยปี มิวเซียมสยามในฐานะผู้ดูแลอาคารอนุรักษ์ซึ่งเป็นสมบัติของชาติแห่งนี้ มีแนวคิดที่จะเฉลิมฉลองหนึ่งศตวรรษของอาคารตามแนวทางของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ นั่นคือการถ่ายทอดความรู้อันเกี่ยวข้องกับอาคารผ่านสื่อและกิจกรรมในหลายลักษณะให้รองรับความสนใจการเรียนรู้ของคนหลากหลายกลุ่ม เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับอาคารและชีวิตของอาคารได้นำไปสู่ความตระหนักในคุณค่าทั้งทางกายภาพและในมรดกภูมิปัญญาของอาคารเก่าซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติ และเกิดแรงบันดาลใจในการรักษาอาคารอันเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมของสังคมไทยอย่างยั่งยืน
แนวคิดและรูปแบบงาน
การดำเนินงานในโครงการ 100 ปี ตึกเรา ประกอบขึ้นมาจากคำสำคัญคือ
คำว่า “ตึกเรา” และคำว่า “การค้นพบ หรือ Rediscover”
เนื่องจากอาคารกระทรวงพาณิชย์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมาหนึ่งร้อยปี ในหน้าที่ของการเป็นอาคารกระทรวงพาณิชย์นั้นได้ผ่านระบบราชการตั้งแต่ยุคเสนาบดีจนถึงระบบราชการปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาหนี่งร้อยปี มีผู้คนมากมายที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนแปลง ได้สัมผัส เกี่ยวข้องกับอาคารแห่งนี้ทั้งในฐานะข้าราชการ พ่อค้า เกษตรกร ประชาชน เช่นเดียวกัน ในยุคที่อาคารได้ปรับหน้าที่มาเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ก็ได้รองรับสาธารณชนทั้งหน่วยงาน นักเรียน นักศึกษา ครอบครัว ผู้สูงวัยที่มาเยี่ยมเยือนจากทั่วประเทศ กล่าวได้ว่าอาคารแห่งนี้เป็นอาคารที่ผู้คนจำนวนมากมีประสบการณ์และมีความทรงจำในต่างห้วงเวลา ความหมายของคำว่า "ตึกเรา" ที่โครงการนี้สื่อจึงหมายถึง "ตึกของพวกเรา"ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
งาน กิจกรรม และสื่อในโครงการ "100 ปี ตึกเรา" ประกอบด้วย
นิทรรศการ “100 ปี ตึกเรา ร้อยเรื่องราวเล่าเรื่องตึก"
นิทรรศการที่ว่าด้วยอาคารมิวเซียมสยามในมิติของการเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในสามส่วน ได้แก่ 1) ก่อกำเนิดตึกใหม่ แสดงข้อมูลทางด้านสถาปัตยกรรมในการออกแบบอาคารสำนักงานของกระทรวงพาณิชย์ 2) ก่อกระทรวงใหม่ ภารกิจกับตึกเป็นหนึ่งเดียวกัน แสดงข้อมูลเกี่ยวกับงานต่างๆ ในพันธกิจที่กระทรวงพาณิชย์รับผิดขอบต่อสังคมไทย รวมถึงเรื่องราวที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยถึงความชีวิตชีวา และความทรงจำของอดีตข้าราชการที่ได้ทำงานบนตึกแห่งนี้ และ 3) เล่าใหม่ในตึกเก่า มิวเซียมใหม่ในตึกเรา แสดงข้อมูลการปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นใหม่จากตึกสำนักงานมาเป็นมิวเซียมสยาม พื้นที่ใหม่แห่งการเรียนรู้ และการบอกเล่าเรื่งราวองค์ความรู้แบบใหม่ออกไปสู่สังคม ทั้งในรูปแบบนิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย
กิจกรรมเสาร์สนามไชย Saturday Happening
กิจกรรมที่เปิดพื้นที่การเรียนรู้อย่างหลากหลายสำหรับทุกเพศและทุกวัยให้ได้เข้ามารื่นรมย์ภายในอาคารมิวเซียมสยามทุกวันเสาร์ต้นเดือน เสาร์สนามไชยประกอบด้วยกิจกรรม อาทิ งานบรรยาย เสวนา งานเวิร์คชอป กิจกรรมสำหรับเด็ก เส้นทางการเรียนรู้ในอาคาร ดนตรีและละคร งานถ่ายภาพ การจำลองประวัติศาสตร์ เป็นต้น
สื่อเพื่อการเรียนรู้ออนไลน์
รูปแบบของสื่อเพื่อการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความหลากหลายและความสามารถในการเรียนรู้ของคนแต่ละกลุ่มวัย ประกอบด้วย 1) เว็บไซต์เกม Minecraft เพื่อเรียนรู้เรื่องการสร้างอาคารมิวเซียมสยามผ่านบทบาทสมมติ 2) กิจกรรมเรียนรู้เรื่องแนวคิดการวางผังเมืองเพื่อเนรมิตโปรเจค "วชิราวุธสแควร์" ซึ่งเป็นแนวคิดในการออกแบบเมืองสมัยใหม่ของสยามในสมัยรัชกาลที่ 6 ผ่านโปรแกรม City Skyline 3) สื่อการเรียนรู้อินเตอร์เอ็กทีฟ Explore the Building เพื่อการสำรวจโครงสร้างและการประดับตกแต่งอาคารมิวเซียมสยาม และ 4) โปรแกรมการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างบูรณาการความรู้ในแบบ STEAM+A
หนังสือที่ระลึกในวาระครบรอบ "ร้อยปี ตึกเรา"
หนังสือที่รวบรวมเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตึกกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 100 เรื่อง เช่น การก่อตั้งกระทรวงพาณิชย์ เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ (การสอบคัดเลือกข้าราชการเข้าทำงานนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย การบรรจุตำแหน่งข้าราชการผู้หญิงคนแรกของกระทรวงฯ) เป็นต้น